ญี่ปุ่น ประเทศที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นตั้งแต่ช่วงปลายตุลาคม – ต้นเดือนเมษายน ที่นี่อุดมไปด้วยพืชพรรณฤดูหนาวที่แสนอร่อยอย่าง ลูกพลับ สตรอเบอรี่ เมล่อน ลูกพีช หรือแม้แต่ มันหวาน ….
แต่เดี๋ยวก่อน! มันหวาน หากตามตำราพืชพรรณ มันถือเป็นพืชที่ถือกำเนิดในเขตร้อน มักพบในประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แล้วถ้าอย่างนั้นมันหวานทำไมถึงไปเป็นผลผลิตแสนอร่อยในฤดูหนาว ณ. ดินแดนอาทิตย์อุทัยหละ !?
หากย้อนอดีตไปหลายร้อยปี ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่แร้นแค้นเรื่องทรัพยากรอย่างหนักเนื่องจากประเทศที่เป็นเกาะ การเกษตรจึงเป็นปัจจัยหลักเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรทั่วประเทศ เราจะเห็นได้ชัดจากวัฒนธรรมการกินที่มีพืชผักเป็นเครื่องเคียงตลอดเวลา และ…เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง พืชที่ได้นำมาปลูกจากประเทศจีนอย่างมันหวานจึงถูกขยายกำลังการปลูกเพื่อนำไปเลี้ยงลูกหลานที่หิวโซในยุคนั้น แน่นอนว่า มันหวานนอกจากจะให้ความรู้สึกที่อิ่มท้องดีแล้วยังให้ผลผลิตที่มากอีกทั้งยังมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่สั้นอีกด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงเริ่มหันเหความสนใจมาปลูกมันหวานเพิ่มขึ้น และยิ่งนานวัน มันหวานก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดทั่วประเทศให้ความสำคัญ มันจึงได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์ซับซ้อน รุ่นต่อรุ่น พัฒนาความหวานเชิงโมเลกุลของแป้งภายในหัวมันจนกลายมาเป็นมันหวานญี่ปุ่นแสนอร่อยที่พวกเรารู้จัก
แล้วมันหวานญีปุ่น ปลูกในไทยได้ไหม !?
หากเรากำลังจินตนาการถึงญี่ปุ่นที่มีสภาพหนาวเย็น เป็นเมืองหิมะตกและมันหวานญี่ปุ่นต้องปลูกในสภาพแวดล้อมที่เย็นแบบภูเขาในบ้านเราละก็ ผิดแล้วครับ
คำตอบคือ มันหวานญี่ปุ่นสามารถปลูกในประเทศไทยได้ อย่างไม่ต้องสงสัย
ทำไมนะเหรอ !?
นั่นก็เพราะว่า การเพาะปลูกมันหวานในประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นที่เดือนเมษายน หากยังจำกันได้ ฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มค่อย ๆ หมดในช่วงต้นเมษายนเป็นต้นไปพอดิบพอดี เมื่อลมเริ่มโชยความอบอุ่นขึ้นฝั่ง นั่นหละคือช่วงเวลาที่เกษตรกรจะเริ่มเตรียมดินและนำหัวที่เก็บไว้มาเพาะปลูกกัน
จากตารางบนสุดแสดงให้เห็นพื้นที่ตอนกลางประเทศ ตารางกลางแสดงถึงพื้นที่ในภูมิภาคหนาวเย็นของประเทศ(ภาคเหนือ) และ ตารางสุดท้ายล่างสุดแสดงพื้นที่ที่พื้นดินอบอุ่น ส่วนเส้น 3 สี
สีส้ม หมายถึง ช่วงที่เริ่มเพาะปลูก
สีเขียว หมายถึง ช่วงที่ต้องพรวนดินและกำจัดวัชพืช
สีน้ำเงิน หมายถึง ช่วงเก็บเกี่ยว
เราจะเห็นได้ชัดว่าประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีการเพาะปลูกมันหวานตั้งแต่ช่วงปลายเมษายนโดยในเขตพื้นที่อบอุ่น(ภาคไต้)จะเริ่มมีการเพาะปลูกก่อนรองลงมาคือภาคกลางและภาคเหนือตามลำดับ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ช่วงบำรุงดินและกำจัดวัชพืชและเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงปลายกันยายนไปจนถึงต้นธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าฤดูหนาวและเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะกับช่วงที่มันหวานถูกนำมาจำหน่ายในหลาย ๆ พื้นที่ หากใครไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้ก็จะได้ทานมันหวานกันพอดี นั่นคือที่มาของปัญหาที่ทำให้เราเข้าใจผิดว่า มันหวานญี่ปุ่นคือผลผลิตของฤดูหนาว
ในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น อุณหภูมิเฉลี่ย 31 – 40 องศา หากมีโอกาสได้สัมผัสกับฤดูร้อนที่ญี่ปุ่น บางท่านอาจพูดว่าที่นั่นร้อนยิ่งกว่าประเทศไทยเสียอีก !! และมันหวานญี่ปุ่นก็ปลูกในช่วงฤดูนี้เสียด้วย
แน่นอนว่าปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจและปลูกมันหวานญี่ปุ่นในประเทศไทยกันบ้างแล้ว และนี่คือไร่มันหวานญี่ปุ่นที่ทางผู้เขียนได้ทดลองปลูกขึ้น โดยใช้หัวพันธุ์ดีจากเกาะทาเนะกะชิม่า ของจังหวัดคาโงชิม่า เพาะและขยายปลูกลงบนแปลงทดลอง ผลที่ได้ต้นมันหวานญี่ปุ่นเติบโตชูเครือสวยงามดั่งภาพ
แล้วผลผลิตที่ทุกคนสงสัยหละ ?
หลังจากทดลองเพาะปลูกโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 120 วัน นายสวนก็ได้ทดลองขุดเพื่อสำรวจว่ามันหวานญี่ปุ่นของเรามีหัวหรือไม่ ผลที่ได้พบว่ามันหวานญี่ปุ่นทุกเครือที่ปลูกโดยคำแนะนำของชาวญี่ปุ่นผู้มอบหัวมันต้นพันธุ์ให้ มีหัวตลอดทั้งแปลงทดลองปลูก เมื่อมาถึงจุดนี้ผมคิดว่าอาจจะคลายข้อสงสัยของทุกคนจากคำถามที่ว่า “มันหวานญี่ปุ่น ปลูกได้ในประเทศไทยได้จริงเหรอ” อย่างแน่นอนใช่ไหมครับ ?
บทความและภาพบางส่วนอ้างอิงจาก
http://www.sc-engei.co.jp/plant/vegetable/cultivate/167.html