เคล็ดลับปลูกมันหวานยังไงให้มีหัว
เคยไหมครับที่เราซื้อต้นมันหวานมาจากร้านค้า หลังจากลงมือปลูกและประคบประหงมกันจนกระทั่งผ่านไปถึงวันเก็บเกี่ยวแล้วกลับไม่มีหัวให้เชยชมเสียเลย แต่กลับกันมันหวานจากแหล่งเดียวกันต่างกันเพียงผู้ปลูกกลับมีหัวพลั่งพรูเต็มไปหมด เคล็ดลับนั้นคืออะไร และปลูกยังไงให้มีหัว แต่ก่อนจะไปฟังเฉลยคงต้องขอเล่านิสัยใจคอของเจ้ามันหวานกันเสียก่อน
มันหวานญี่ปุ่น หรือ มันหวานที่เรารู้จักกัน อันที่จริงก็คือมันเทศที่มีถิ่นกำเนิดทางอเมริกากลางและอเมริกาไต้ เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่นการทานมันเผาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตในช่วงฤดูหนาว มันหวานจึงได้รับการสนใจเป็นพิเศษและพัฒนาสายพันธุ์หลายรุ่นสืบต่อกันมา หากเทียบก็เหมือนข้าวไทยที่มีหลากหลายสายพันธุ์และมีพันธุ์ที่โดดเด่นมากมายนั่นเอง ส่วนอันโนอิโมะอันโด่งดังนั้นเป็นพันธุ์ที่มาจากหมู่เกาะซุนดาใหญ่แห่งประเทศอินโดนีเซีย โดยธรรมชาติของมันหวานแล้วเป็นพืชที่เก็บอาหารไว้ในราก เรียกรากที่เก็บอาหารนี้ว่า “storage root” ส่วนรากฝอยเล็ก ๆ ก็จะทำหน้าที่หาอาหารให้ต้นไป
Storage root หรือ รากกักเก็บอาหาร จะเกิดขึ้นบริเวณตามข้อใบของเถาว์มันหวาน ทำหน้าที่สะสมอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสง นำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลและแป้งสะสมไว้บริเวณราก ซึ่งโดยธรรมชาติมันหวานจะเริ่มสะสมอาหารเมื่อรับรู้ได้ถึงระยะเวลาแสงต่อวันที่สั้นลงและมีอุณหภูมิที่ต่ำลง เรียกภาษาบ้าน ๆ ได้ว่าเก็บอาหารไว้จำศีลหน้าหนาวนั่นเองครับ อ่านมาถึงจุดนี้หลายคนคงอ้อแล้วว่าทำไมไม่ค่อยได้หัวกันช่วงฤดูร้อน ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้มีหัวนั้นมีอะไรบ้างนั้นผมได้ไปลองถามโปรที่ญี่ปุ่นได้คำตอบมาดังนี้ครับ
ยอดพันธุ์ที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
Q : ถ้าผมใช้ยอดเก่าจากต้นที่ผมเก็บหัวแล้วมาปลูกต่อมันจะยังมีหัวไหมครับ คำถามแรกที่ผมได้ลองแชทถามกับสวนมันหวานมืออาชีพโคเอ แห่งมิยาซากิ
A : มันก็ใช้ได้นะ ท่านตอบ แต่คุณภาพหัวที่ได้จะดิ่งสุด ๆ ไปเลย ถ้าปลูกกินในบ้านก็ไม่น่าเป็นอะไรแต่ถ้าปลูกขายคงโดนสั่งเครมยกล็อต แล้วท่านก็ใช้เครื่องหมายหัวเราะ (笑) ตบท้าย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีนะ ลองปลูกแล้วเรียนรู้ให้สนุกก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีนะ ท่านกล่าว
Q : แล้วทางที่ดีเราควรใช้อะไรปลูกดีครับ ผมถามกลับไปอีกครั้ง
A : ปกติที่สวนจะสั่งหัวจากบริษัทเข้ามา100กว่ากิโลเพื่อนำมาเพาะทำยอดพันธุ์แล้วนำไปปลูก แต่ก็มีบางพันธุ์ที่ต้องซื้อต้นพันธุ์ที่ออกมาจากบริษัท ต้นหนึ่งก็ 300กว่าเยน (ประมาณ 90-110บาท) รอบที่ผ่านมาสั่งมาไว้ 600 ต้น ที่ญี่ปุ่นถ้าลักษณะหัวไม่ดีก็จะถูกปัดตกเกรด เรานำส่งเข้าห้างไม่ได้เลยนะ ต้องทิ้งหมดไม่ก็เอาไปแปรรูปแทน
Q : งั้นถ้าปลูกใช้ยอดจากหัวจะดีกว่าหรือเปล่าครับ ผมถาม
A : ควรใช้ เพราะยอดจากหัวแข็งแรงกว่า มันเหมือนกับรถที่ออกตัวใหม่นั่นหละ! หรือถ้าให้ดีสุดคุณภาพชัดเจนไม่เสี่ยงเลยก็ต้องต้นกล้าจากบริษัทที่เขาทำส่งสวน ราคาอาจจะสูงหน่อย แต่เราไม่ได้ซื้อที่ 4-5 หมื่นยอดมาลงปลูก เราซื้อ 100-200 กล้า แล้วมาขยายเอง ตัวนี้นะคุ้มสุด หัวดี คุณภาพดีมาก ไม่เสี่ยงเลย ถ้าวางแผนการปลูกได้ชัดเจนแล้ว คุ้มกว่าใช้หัวเป็นพันเท่าแน่นอน
หลังจากสิ้นสุดบทสนทนาผมก็ได้ขอบคุณท่านเจ้าของสวน ท่านก็ใจดีมากและยังบอกมาถามได้อีกถ้าสงสัย
เลือกพันธุ์ให้เหมาะสม
มันหวานในปัจจุบันมีพันธุ์ให้เลือกมากมาย บางพันธุ์ให้หัวได้ทุกฤดูในช่วงเวลาอบอุ่น แต่บางพันธุ์ก็ไม่ บางสายพันธุ์ให้ผลผลิตมากและบางสายพันธุ์ก็ให้หัวยาก เช่น ทาเนะกะ โกล มันสีม่วงขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นของเกาะ ทาเนะกะชิมะ แม้กระทั่งเกษตรกรชาวญี่ปุ่นเองยังต้องยอมรับความยากในการได้ผลผลิตของมัน
ในการเลือกพันธุ์มันหวานมาปลูกนั้น หากเป็นผู้เริ่มต้นแนะนำให้เริ่มจากสายพันธุ์ที่ง่ายที่สุดก่อนเช่น มันสีส้มโอกินาว่า, เพอเพิ้ลสวีทลอร์ด และ สีม่วงของโอกินาว่า เป็นต้น ทั้ง 3 ชนิดนี้ถือเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตง่ายที่สุดของพันธุ์ทั้งหมด ส่วน เบนิฮารุกะ ซิลสวีท และ อันโน อิโมะ ถือเป็นพันธุ์ที่มีความยากขยับขึ้นมาอีกระดับ แต่หากศึกษานิสัยของเค้ามาดีแล้วละก็ มันคงไม่ยากเกิดความสามารถของผู้ปลูกอย่างแน่นอน
วางแผนการปลูก
การวางแผนการปลูกที่ดีก็มีส่วนช่วยให้เราได้หัวเช่นเดียวกัน ในประเทศญี่ปุ่นการ ปลูกมันหวาน เป็นเรื่องจริงจังเป็นอย่างมาก โดยส่วนมากจะทำเพียงปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มปลูกกันช่วงฤดูร้อนและไปเก็บเกี่ยวกันตอนต้นฤดูหนาว หากเทียบเดือนก็จะปลูกราว ๆ เดือน พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวตอนช่วงเดือน ตุลาคม หรือ พฤศจิกายน อุณหภูมิที่ค่อย ๆ ลดต่ำลงในแต่ละเดือนมีผลช่วยกระตุ้นให้มันหวานเริ่มสะสมอาหารและมีหัวในที่สุด
หากต้องการเน้นความชัวร์ในเรื่องลงหัวแล้วละก็ ควรเลือกที่จะปลูกในฤดูฝนและเก็บเกี่ยวในช่วงต้นหนาว ในประเทศไทยอากาศของเราจะเย็นช้ากว่าญี่ปุ่น หากกะจังหวะช่วงปลูกให้อยู่ในช่วงเดือนที่อุณหภูมิเริ่มลดลงบ้างก็จะมีส่วนเพิ่มโอกาสให้มันหวานลงหัวได้มากขึ้นนั่นเอง
แม้มันหวานจะต้องการอุณหภูมิที่ลดลงแต่ก็ไม่ได้หมายถึงต้องต่ำชนิดที่ต้องหนาวจัดเช่น 15-20 องศา มันหวานต้องการอุณหภูมิที่ลดลงมาเล็กน้อยจากอุณหภูมิเดิมที่เคยอยู่เท่านั้น เช่น เริ่มต้นปลูกอุณหภูมิราว ๆ 38องศาและเริ่มลดลงเหลือ 34องศาในอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นต้น ซึ่งค่าเฉลี่ยที่พบว่ามันหวานจะลงหัวได้ดีจะอยู่ที่อุณหภูมิระหว่างประมาณ 22 – 34 องศา หรือ อุณหภูมิสะสมระหว่างช่วงการปลูกมากกว่า 3000องศาขึ้นไป
และสิ่งที่ช่วยให้เราสบายใจมากขึ้นไปอีกคือดอกที่ผลิบานออกมา มันหวานจะให้ดอกเมื่ออากาศเริ่มลดต่ำลง หากพบว่ามันหวานเริ่มมีดอกก็อุ่นใจไปอีกขั้นว่ามีหัวให้เก็บบ้างแน่ ๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีบางประเทศที่สามารถปลูกมันหวานบนอุณหภูมิเฉลี่ย 40องศาขึ้นไปและได้ผลผลิตที่ดีได้ เช่น เคนย่า ประเทศที่มีการผลิตมันหวานเกือบจะมากที่สุดในโลก ที่นี่ปลูกมันหวานกันหลายเอเคอร์ มากยิ่งกว่าญี่ปุ่นเสียอีก นั่นหมายถึงหากเราเลือกสายพันธุ์ที่ให้หัวได้ง่ายแม้อากาศจะร้อนจัดก็ไม่จำเป็นต้องห่วงว่าจะได้รับประทานแห้วแทน
ดินระบายน้ำดีก็มีสิทธิ์ลงหัวง่ายขึ้น
ดินเองก็เป็นส่วนปัจจัยสำคัญในการลงหัวของมันหวาน มันหวานเป็นพืชที่ไม่ค่อยชอบน้ำมาก ชอบดินที่มีความโปร่งระบายน้ำได้ดี สังเกตุง่าย ๆ คือเมื่อรดน้ำลงไปแล้วน้ำจะไหลผ่านดินหายไปได้เลย ไม่ตกค้างหรือขัง ดินที่ชุ่มน้ำเช่นดินเหนียวแม้จะสามารถ ปลูกมันหวาน ได้แต่ก็มีโอกาสทำให้ต้นมันสวยเพียงแค่ใบได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีดินที่โปร่งอากาศถ่ายเทสะดวกแล้วละก็โอกาสลงหัวก็จะมีสูงตามมานั่นเอง
ในพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการปลูกมันหวานบนพื้นดินสองลักษณะ ประกอบไปด้วย ดินทราย และ ดินภูเขาไฟ หากใครได้เคยไปเยี่ยมชมสวนมันหวานในช่วงเตรียมดินแล้วละก็ อาจจะต้องเตรียมผ้าคลุมจมูกคลุมหัวไว้เลยก็ได้ เพราะระหว่างพรวนดินนั้น ฝุ่นทรายจะคลุ้งจนแทบมองไม่เห็นตัวรถแทรคเตอร์เลยทีเดียว
แม้มันหวานจะชอบดินที่โปร่ง แต่ก็พบว่ามันหวานบางพันธุ์ก็สามารถลงหัวในดินที่เป็นดินเหนียวได้ดีได้เช่นกัน เช่น มันสีส้มโอกินาว่า, สีม่วงโอกินาว่า, อันโน อิโมะ และ เพอเพิ้ลสวีทลอร์ด เป็นต้น ส่วน เบนิฮารุกะ ซิลสวีท หรือ พันธุ์อื่น ๆ นั้น อาจจะลงหัวได้น้อยกว่าปกติ
พื้นที่เปิดโล่งแสงแดดส่องถึงลมพัดสะดวก
มันหวานชอบพื้นที่เปิดโล่ง มีลมพัดและอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดที่สาดส่องในแต่ละวันมีผลกับการลงหัวของต้นมันหวานเป็นอย่างมาก ยิ่งได้รับแสงมากยิ่งลงหัวเร็ว นอกจากนี้แสงยังส่งผลต่อการขยายหัวของมันหวานอีกด้วย มันหวานที่ปลูกบนพื้นที่เปิดโล่งมักจะลงหัวได้เร็วและรูปร่างใหญ่บึกบึน รูปทรงสวยงาม ต่างจากมันหวานที่ปลูกในพื้นที่ร่มหรือได้รับแสงน้อยที่ลงหัวช้า ลักษณะหัวจะแคระแกรน มองดูผอมเพรียวคล้ายรูปร่างของผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงไดเอท
นอกจากนี้ลักษณะของร่องแปลงเองก็มีผลกับการลงหัวเช่นเดียวกัน ร่องที่กว้างและระยะปลูกที่ห่างจะช่วยลดความแออัดของต้นมันหวาน ส่งผลให้ลงหัวได้รวดเร็วและมีขนาดที่ใหญ่อีกด้วย และยิ่งไปกว่านี้ร่องแปลงยังช่วยนำพาลมพัดผ่านไปตามแปลงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอากาศที่ดีส่งผลเพิ่มโอกาสการลงหัวได้มากขึ้นอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีผู้ปลูกจำนวนไม่น้อยที่แม้จะใช้ยอดพันธุ์จากบริษัทผลิตต้นพันธุ์มาเพาะปลูกบนพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกแต่ก็ไม่ได้หัวเช่นกัน องค์ประกอบสุดท้ายที่สำคัญในการปลูกให้มันหวานมีหัวนั้นก็คือตัวผู้ปลูกเองนั่นเอง หากเราได้ทำความเข้าใจลักษณะนิสัยของมันหวานจนถึงขั้นรู้ใจเค้าได้แล้วละก็ แน่นอนว่าการปลูกให้มีหัวนั้นคงไม่ยากอย่างแน่นอนครับ นอกจากนี้ทางเจ้าของสวนมันหวานโคเอ ที่ผมได้พูดคุยด้วยยังกล่าวเสริมทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า แม้ตัวเขาเองจะ ปลูกมันหวาน มา 10 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังหาสูตรตายตัวไม่ได้เช่นกัน ไม่มีปีไหนที่ได้ผลผลิตเหมือนกันทุกครั้งและตัวเขาเองก็ปรับสูตรสลับไปมาทุกครั้งเช่นกันครับ
หากได้ลองทำตามบทความนี้แล้วยังพบว่ามันหวานของเรายังไม่ลงหัวอีก ลองดูปัจจัยการไม่ลงหัวเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง ทำไมมันหวานญี่ปุ่นไม่มีหัว นะครับ