มันญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นเมนูหลักอีกชนิดที่มักจะได้ยินจากคำบอกเล่าของผู้คนที่ได้เคยไปท่องเที่ยวยังประเทศแดนปลาดิบ เมื่อครั้งอดีตผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้คนที่เคยได้รับคำบอกเล่าที่ว่า “หากไปญี่ปุ่นอย่าลืมกินมันเผาให้ได้นะ มันอร่อยมาก!” แม้จะได้ยินดังนั้น แต่ผมเองก็ไม่เคยเชื่อว่ามันอร่อยจริง ในใจคิดเพียงว่าไม่น่าจะแตกต่างจากมันเทศบ้านเราสักเท่าไหร่เพราะยังไงมันเทศก็คือมันเทศ
หลายปีต่อมา ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ผมก็พบกับร้านมันเผาหน้าตาคล้ายซาเล้งแต่ประดับประดาไปด้วยโคมแดงและม่านตัวอักษรญี่ปุ่น ด้วยความคิดคาใจมาหลายปีจึงได้ลองอุดหนุนจากคุณลุงใจดีเจ้าของร้านแล้วลองทานดู แล้วก็เข้าใจได้ทันที รสหวานและเนื้อนุ่มเหนียวราวกับไม่ใช่มันเทศนี่เองที่ทำให้มันญีปุ่น แตกต่าง จากมันเทศในบ้านเรา และด้วยความติดใจจึงได้ศึกษาและพบว่ามันเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียวแต่ยังมีแตกย่อยออกไปอีกนับสิบกว่าสายพันธุ์ แต่ในจำนวนทั้งหมดก็มีพันธุ์ที่โดดเด่น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ตามซื้อกันตามจองกันเมื่อถึงฤดูกาลมันเผา เรามาทำความรู้จักมันหวานญี่ปุ่นสุดยอดสายพันธุ์ที่โด่งดังกันเลยดีกว่าครับ
เบนิฮารุกะ
เบนิ ฮารุกะ (Beni Haruka) เป็นมันญี่ปุ่นพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนเมื่อปี ค.ศ. 2010 เมื่อเดือนมีนาคม หลังจากมีการเปิดตัวและจำหน่ายได้ไม่นาน เบนิฮารุกะ ก็กลายเป็นมันที่ขายดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ด้วยความหวานที่เหนือมันหวานธรรมดาหลายเท่าประกอบกับเนื้อที่นุ่มและหนึบจนแทบจะละลายทันทีที่เข้าปากของมันทำให้กลายเป็นที่ฮือฮาของแฟนคลับผู้ชอบทานมันหวานชาวญี่ปุ่น มีการเขียนรีวิวมากมายเกี่ยวกับเบนิฮารุกะออกมานับร้อยเว็ปไซต์ นับได้ว่าเป็นมันหวานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน เบนิฮารุกะ กลายเป็นมันทีมีการปลูกมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นในเขตจังหวัดต่างๆจากเดิมที่เคยเป็น เบนิ อาซึมะ
เบนิ อาซึมะ
เบนิ อาซึมะ (Beni Azuma) มันหวานเปลือกแดงเนื้อเหลืองเช่นเดียวกับ เบนิ ฮารุกะ เป็นมันที่ครองใจชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันมีเนื้อแป้งที่ดี รสหวานโดดเด่น รสสัมผัสเหนียวและนุ่ม ทานอร่อยได้เรื่อย ๆ ราวกับขนม แต่เมื่อเบนิฮารุกะเปิดตัว เบนิอาซึมะ ก็มียอดจำหน่ายน้อยลง แต่ถึงกระนั้น เบนิอาซึมะ ก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดไม่แพ้เบนิฮารุกะ เพราะฐานตลาดเดิมที่เคยเชื่อมั่นในคุณภาพความอร่อยของ เบนิอาซึมะ เดิมยังคงจงรักภัคดีต่อมันหวานชนิดนี้อยู่นั่นเอง
อันโนะ อิโมะ
อันโนะ อิโมะ (Anno Imo) เป็นมันเนื้อสีส้มอ่อน(คล้ายสีของฟักทอง) อันโนะ มี 2 สี คือ เปลือกสีขาว เรียกอันโนะ โคกาเนะ และ เปลือกสีแดง เรียก อันโนะ เบนิ ทั้งสองรสเหมือนกันคือ หวานและหนึบคล้ายเนื้อฟักทอง อันโนะเริ่มโด่งดังจากร้านค้าออนไลน์ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นอีกชนิดที่นักทานมันมักหามาทานในช่วงฤดูต้น-กลางหนาว
ซิลสวีท
ซิลสวีท (Silk Sweet) มันหวานสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียน มันเปิดตัวจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2012 ด้วยการจับคู่ผสมระหว่าง “ฮารุโคกะเนะ” x”เบนิ อาสึมะ” แม้จะเปิดตัวได้ไม่นาน ซิลสวีทก็สามารถกลายมาเป็นมันหวานอีกชนิดที่ติดอันดับยอดขายต้น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น มันมีรสหวานจัดและเนื้อที่นุ่มหนึบคล้ายเบนิฮารุกะ แถมเนื้อของมันยังมีสีเหลืองเข้มคล้ายกับรังไหมต่างกับเบนิฮารุกะที่มีสีเหลืองครีมอ่อน ๆ อีกด้วย
เบนิ โคกาเนะ
เบนิ โคกาเนะ (Beni Kogane) มันญี่ปุ่นสายพันธุ์เดียวกันกับเบนิอาสึมะ แต่ถูกนำไปปลูกและคัดเลือกพันธุ์เด่นจาก JA Namegata แห่งจังหวัดอิบารากิ แล้วนำไปตั้งชื่อใหม่เป็น เบนิโคกะเนะ มีรสหวานพอดี เนื้อมีความเหนียวชุ่มฉ่ำ มันหวานชนิดนี้จะถูกจำหน่ายผ่าน JA นาเมะกะตะ แห่งเดียวเท่านั้น
นารุโตะ คิงโตะคิ
นารุโตะ คิงโตะคิ (Naruto Kintoki) มันหวานสายพันธุ์ดีที่คัดพันธุ์เด่นมาจากต้นกำเนิดมันหวานของญี่ปุ่นที่ชื่อ โคเคอิ 14 นารุโตะ คิงโตะคิ ถือเป็นมันหวานอีกชนิดที่มีการจำหน่ายมากในประเทศญี่ปุ่น มันมีรสที่หวานพอดีและมีความหนึบและชุ่มฉ่ำ เหมาะสำหรับนำไปทำเป็นเทมปุระ นึ่ง และ เผา
เพอเพิล สวีทโร้ด
เพอเพิ้ล สวีทโร้ด (Purple Sweet Road) ฟังเผิน ๆ เหมือนผมแอบตั้งชื่อขึ้นมาเอง แต่จริง ๆ แล้วมันคือมันญีปุ่นสีม่วงที่มีชื่อว่า เพอเพิ้ลสวีทโร้ด จริง ๆ ครับ และยังเป็นมันสีม่วงเปลือกแดงที่ว่ากันว่ามีรสหวานอร่อยกว่ามันสีม่วงชนิดอื่น ๆ อีกด้วย เพอเพิ้ล สวีทโร้ด ถือเป็นมันที่ได้รับความนิยมอย่างมากในคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานินสูง ทานง่าย รสหวานอร่อย ไม่มีเสี้ยนนั่นเอง นอกจากนี้มันยังเป็นมันม่วงที่มีการปลูกเยอะที่สุดในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
แอนโทไซยานินมีสมบัติเป็นโภชนะเภสัช (nutraceutical) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) อีโคไล (Escherichia coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษด้วย
แม้จะมีเพียงไม่กี่ชนิดที่โดดเด่น แต่ในประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีสายพันธุ์อีกมากมายและยังคงพัฒนาและคัดสรรค์อยู่เรื่อย ๆ ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะได้ทานมันหวานญี่ปุ่นที่ทานแล้วรู้สึกเหมือนทานขนมหวานเลยก็เป็นได้